รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

ขุดตำนานส้มสุกลูกไม้ไทยตอนที่ 1 "ทำไมกระต่ายจึงตื่นตูม"

หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมบ้านพิพิธภัณฑ์ ของคุณเอนก นาวิกมูล มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม่สาลิกาก็หวนหาอดีตอย่างบอกไม่ถูกค่ะ พอกลับมาบ้านก็รื้อค้นจนกระจุยไปครึ่งบ้าน เผื่อว่าจะพบเจออะไรพอที่จะนำไปฝาก รวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ของคุณเอนก ที่มีแนวความคิดว่าเก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่าแล้วนั่นเองค่ะ
โชคดีเหลือเกินค่ะ ที่ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่ของที่เสื่อมสลายง่ายนัก เช่น ของเล่นสังกะสี เป็นต้น ก็เลยมีหลงเหลือมาให้ลูกหลานได้ชื่นชม หลังจากบ้านถูกค้นไปแล้วเกินกว่าครึ่งก็พบเมล็ด "มะตูม" ห่อหนึ่งถูกซุกเอาไว้ ท่ามกลางของสะสมที่ไม่ได้ตั้งใจสะสมค่ะ แหม… มันถูกซุกเอาไว้ลึกลับ ประหนึ่งนายกฯ ซุกหุ้นเชียวล่ะค่ะ
เมล็ดมะตูมห่อนี้มีที่มาค่ะ เมื่อหลายปีที่แล้วแม่สาลิกา ไปเก็บมาจากบ้านยายที่ต่างจังหวัดค่ะ แอบหวังเอาไว้ว่าจะมาปลูก แล้วก็ปลูกไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามะตูมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แต่ระเบียงหลังบ้านแม่สาลิกานั้น กว้างไม่เกินที่แมวดิ้นตาย แม้ว่าจะพยายามนำเมล็ดมะตูมนั้น ไปฉายรังสีดัดแปลงพันธุกรรมอย่างไร มันก็ไม่สามารถกลายเป็นไม้ดัดพันธุ์บอนไซพอที่จะปลูกได้ ก็เลยเอาไปเก็บไว้จนเกือบลืมไปเลยค่ะ
พอเห็นเมล็ดมะตูม อดีตอันดูดดื่มของแม่สาลิกา ระหว่างมะตูมกับลมหนาวก็มาเยือนทันทีเลยค่ะ ลมหนาวมาพัดมาเมื่อไหร่ จะต้องได้เห็นว่าวจุฬาและเสียงสนูดุ๊ยดุ่ยแว่วมาเสมอๆ ข้าวเหนียวใหม่นึ่งร้อนๆ คลุกมะตูมสุกเหลืองละออหอมกรุ่นก็พลอยลอยมาปะทะจมูกในเวลาเดียวกันด้วยค่ะ เชื่อไหมล่ะคะ ข้าวเหนียวนึ่งคลุกมะตูมสุกนั้น อร่อย…
สงสัยใช่ไหมคะว่า ว่าวและมะตูมมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ปัจจุบันนี้อาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องมากนัก เพราะมีกาวสารพัดชนิด ถูกผลิตขึ้นมาให้เลือกใช้ไม่หวาดไม่ไหว แต่ในสมัยก่อนนั้น ยางมะตูมนี่แหละค่ะ เป็นกาวชนิดยอดเยี่ยมในการปิดกระดาษว่าว เพราะว่าจะทำให้ว่าวเบา และติดลมดีมากเลยค่ะ แถมแสนจะประจวบเหมาะ เพราะว่ามะตูมจะสุกในหน้าหนาว ที่คนเขาเล่นว่าวกันพอดิบพอดีค่ะ
เรื่องราวที่จะเว้นไปเสียมิได้กับเรื่องราวของมะตูมสุก ก็คือว่ามาเกี่ยวข้องอย่างไรกับปากท้องของเรา ก็ช่วงเวลาที่เด็กๆ นักเล่นว่าว (เน้นว่า "เล่นว่าว" ค่ะ) ควักเอายางมะตูมไปปิดกระดาษว่าว เด็กๆ นักกินอย่างเราก็ควักเอาเนื้อมะตูมสุก มาคลุกข้าวเหนียวใหม่นึ่งร้อนๆ กินเล่น ๆ อร่อยเหาะไปเลยล่ะค่ะ แม้ว่าจะเป็นเพียง "ข้าวใหม่" ที่ไม่มี "ปลามัน" ก็ตาม อย่างอื่นแทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลยทีเดียว
เราย้อนกลับไปดูมะตูมอ่อนกันสักหน่อยนะคะว่า หากมะตูมยังไม่สุกนั้นจะเอื้อประโยชน์อะไร ต่อปากท้องของเราได้บ้าง มะตูมอ่อนก็สามารถรับประทานได้ค่ะ แต่ว่ามีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป มะตูมที่ยังอ่อนอยู่ ให้นำมาฝานเปลือกออกแล้วหั่นเป็นแว่นบางๆ นำไปแช่อิ่มเป็นขนมหวานหรือเคลือบน้ำตาล เป็นมะตูมแว่นรับประทานเล่นๆ ก็ได้ค่ะ แถมมีสรรพคุณทางยาด้วยนะคะ จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีค่ะ ส่วนท่านที่เป็นนักดื่มนั้น มะตูมก็สามารถตอบสนองความเป็นนักดื่มของท่านได้ ด้วยการนำมะตูมอ่อนไปหั่นเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาต้มน้ำดื่มหรือจิบ ก็ตามแต่ใจจะปรารถนากันแล้วล่ะค่ะ หากนำไปย่างไฟอ่อนแล้วละก็จะหอมมากยิ่งขึ้นค่ะ และในปัจจุบันนี้ยิ่งสะดวกมากขึ้น เมื่อมีคนนำมะตูมไปทำมะตูมผง ชงน้ำร้อนก็พร้อมดื่มแล้วค่ะ หอมกรุ่นกลิ่นมะตูม กระตุ้นเลือดลมได้ดีเป็นยิ่งนัก หรือหากชอบเครื่องดื่มประเภทเย็นๆ ก็นำไปแช่เย็นเสียหน่อย หรือจะใส่น้ำแข็งลงไปก็เย็นชื่นใจยิ่งขึ้นค่ะ
นอกจากมะตูมแก่ มะตูมอ่อน จะเป็นประโยชน์ต่อกระเพาะของพวกเราแล้วนะคะ ใบมะตูมก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากันเลยค่ะ เพราะว่าใบมะตูมอ่อนนั้น รับประทานแกล้มอาหารประเภทลาบหมู ลาบเป็ด ลาบไก่ หรือลาบปลาได้อร่อยมากค่ะ กลิ่นใบมะตูมอ่อนจะหอมขึ้นจมูกนิด ๆช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร เหลือไว้เพียงกลิ่นอาหารที่หอม และรสชาติที่กลมกล่อมลงตัวค่ะ
(โปรดติดตาม "ตำนานมะตูม"ในตอนต่อไปค่ะ)

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


- ขุดตำนานส้มสูกลูกไม้ไทยตอนที่ 2 "ทำไมกระต่ายจึงตื่นตูม"
 

เมนูอาหารไทยแนะนำ
 
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie