รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

เทศกาลบุญเดือนสิบ: เรื่องปากเรื่องท้องของ (ผี) ปู่ย่าตายาย ตอนที่ 2

นอกจากอาหารที่เป็นหัวใจของหมรับแล้ว ยังมีเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งก็จะได้แก่ของพื้นเมืองทางใต้ เช่น รูปตัวสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ นก ปลา ช้าง ม้า ที่ทำมาจากไม้หยี กระดาษ หรือใบลาน รวมทั้งตัวละครในหนังตะลุง ตลอดจนกระชอน กระจ่า แม้กระทั่งอาวุธยุทธภัณฑ์ประเภทเบา เช่น ปืนแก๊ปก็ยังมีเลยค่ะ แต่ยังไม่เคยได้ยินใครพิเรนทร์ใส่ระเบิดน้อยหน่า หรือว่าอาร์พีจีหรอกนะคะ เพราะว่าที่นรกคงไม่ต้องใช้อะไรกันขนาดนั้นค่ะ เว้นเสียแต่ว่าอาจจะมีบางคนอยากให้ผีตายายท่าน ช่วยไประเบิดกระทะทองแดง กับสวนงิ้วไว้ให้ก่อนเท่านั้นเอง
จากนั้นเมื่อจัดหมรับกันสวยงาม และหนักอึ้งแล้วก็จะแห่หมรับไปถวายพระค่ะ ขบวนแห่นี่แหละค่ะตระการตาเหลือหลาย หมรับบางชุดสูงลิบ ห่มคลุมเอาไว้เสียสวยงามด้วยขนมลา และปักธงทิวน่าดูชมไปเลยค่ะ โดยจะแห่ไปกันในตอนเช้า พร้อมกับภัตตาหารสำหรับถวายพระ และข้าวของที่จะใช้ในพิธีชิงเปรตนั้น ก็แยกออกมาส่วนหนึ่ง เมื่อไปถึงวัดก็จะถวายหมรับและภัตตาหาร ส่วนของสำหรับชิงเปรตก็จะไปใส่ไว้ใน "หลาเปรต" หรือ ศาลาที่สร้างขึ้นมาชั่วคราวสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ ทางวัดก็จะนำสายสิญจน์มาวนรอบ และด้านหนึ่งของสายสิญจน์นั้น พระสงฆ์ท่านก็ถือไว้สำหรับการสวดบังสุกุล เมื่อพิธีกรรมทางสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ทันทีที่พระสงฆ์เก็บสายสิญจน์ ก็จะถึงพิธีที่แสนจะสนุกสนานของเด็กๆ ค่ะ เพราะว่าทุกคนจะกรูกันเข้าไป เพื่อแย่งชิงของบนหลาเปรตนั้นอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ชิงเปรต" ค่ะ
หากพิจารณากันตามแนวทางในการดำรงชีวิตที่แท้จริงแล้ว การทำพิธีชิงเปรตนี้ ก็อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ของคนโบราณก็ได้นะคะ ที่จะได้มีงานรื่นเริงประจำปี ให้คนในท้องถิ่นได้มีความบันเทิงเริงใจ ในยามค่ำคืนบ้าง ได้แต่งตัวสวยงามอวดกันบ้าง ได้ถวายข้าวปลาอาหารแห้ง ไว้ให้พระสงฆ์ท่านได้ใช้เก็บไว้เป็นเสบียง ในช่วงเข้าพรรษาที่อาจจะลำบาก ในการออกบิณฑบาต และนอกจากนี้ยังเป็นการแสดงน้ำใจต่อกันในชุมชนด้วย เพราะว่าเวลาทำขนมแต่ละชนิดนั้น แต่ละบ้านก็จะทำจำนวนมาก และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและญาติมิตรด้วย เป็นการผูกสัมพันธไมตรีต่อกันในชุมชนค่ะ แถมยังจะได้ชื่อว่าเป็นลูกหลานกตัญญูอีกด้วย เพราะเป็นการทำบุญให้ปู่ย่าตายาย เรียกได้ทำบุญครั้งเดียวได้กุศลหลายทางเลยล่ะค่ะ
ช่วงนี้…วัดข้างเรือนเดือนแรมของแม่สาลิกาก็ครึกครื้นเป็นพิเศษค่ะ ผู้คนมากหน้าหลายตา มาแหลงภาษาปักษ์ใต้กันให้ลั่นไปหมด เพราะที่วัดดุสิดารามนี้ มีงานบุญเดือนสิบของพี่น้องชาวใต้ในกรุงเทพฯ นั่นเองค่ะ ออกร้านในงานวัดกันให้พรึบไปหมด ตกกลางคืนก็มีหนังตะลุง ที่หาดูได้ไม่ง่ายนักในบางกอกสมัยนี้ มาเล่นให้ดูด้วย สารพัดขนมสำหรับจัดหมรับ และพิธีชิงเปรตวางเรียงรายหลากสีสันกันสวยงามไปหมดเลยค่ะ แม่สาลิกาเองก็ถือโอกาสไปเยี่ยมๆ มองๆ หาอาหารปักษ์ใต้รับประทานเหมือนกัน บางร้านก็อร่อยค่ะ แต่บางร้านก็ แหม… ไม่รักษาหน้าตาของคนปักษ์ใต้ด้วยกันเลย รสชาติไม่แยแสลิ้นผู้ชิมเลยค่ะ คงคิดว่าจะเปิดร้านอยู่ตรงนี้เพียงไม่กี่วัน ลูกค้าจะด่าหรือจะชมก็คงไม่มีผลเกี่ยวเนื่องต่อ CRM (Customer Relation Management = หนึ่งในรูปแบบธุรกิจแนวทางใหม่ ที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องระหว่างลูกค้ากับผู้จำหน่าย) เลยไม่สนใจจะใส่รสชาติและความตั้งใจลงไป ให้อร่อย นับว่าเป็นกรรมของคนที่หลงเข้าไปกินเสียจริงค่ะ ในฐานะของคนรักการกิน อยากจะวิงวอนเหมือนกันนะคะ กับพ่อค้าแม่ขาย ที่จำหน่ายอาหารตามงานออกร้านต่างๆ น่ะค่ะ อย่าทำลายความสุขของนักกิน ด้วยการทำอาหารแบบส่งๆ ให้เลยนะคะ
แม้จะมีหลายเรื่องที่ชวนวิพากษ์ให้ปากแฉะ แต่ก็มีบางเรื่องที่แม่สาลิกาอยากยกมาให้ยิ้มกัน ในความตั้งใจในการมอบความอร่อยให้กับผู้อื่น ยายปริกข้างบ้านแกจะตักบาตรในช่วงวันสารทนี่แหละค่ะ แต่ทีนี้หากจะทอดปลาทูไว้ล่วงหน้า ก็เกรงว่าจะไม่หอมอร่อย เลยให้หลานตั้งกะทะทอดหน้าบ้านเลย พอเห็นสีจีวรแวบเข้ามาในคลองสายตา ยายปริกแกก็จะบอกให้หลานรีบนำปลาทูลงไปอุ่นทันที พอพระท่านมาถึง ก็ตักขึ้นมาใส่บาตรได้พอดี พอสายออกมาหน่อย พระท่านก็มาถี่ขึ้น หลานยายปริกอุ่นแทบไม่ทัน ยายปริกกังวลว่า พระบางท่านจะไม่ได้ฉันปลาทูร้อนๆ เลยตะโกนบอกหลานเสียงดังลั่นว่า
"ซ่าหริ่มเอ๊ย เร็วๆ เข้า เอาลงไปอุ่นมันทีละสี่ห้าองค์ไปเลย โน่นพระท่านมาแล้ว เห็นไหมตั้ง สี่ห้าตัวเรียงๆ กันมาอยู่น่ะ" *
แม่สาลิกาว่าพระท่านคงสะดุ้งเหมือนกันนะคะ แต่โชคดีค่ะที่ท่านไม่เปลี่ยนเส้นทางบิณฑบาตให้ยายปริกแกรอเก้อ มีอย่างที่ไหน เรียกท่านเสียเด็กวัดสับสนไปเลย มองซ้ายมองขวา นึกว่ามีอะไรตามหลวงพี่มาตั้งสี่ห้าตัว แฮ่ะๆ… ขออโหสิกรรมด้วยนะเจ้าคะ หากว่าเรื่องเล่านี้จะบาปปากแม่สาลิการับเทศกาลสารทเดือนสิบ ขออย่าให้ปากเท่ารูเข็มเลยนะคะ เพราะว่าแม่สาลิกาไม่ได้ชอบขนมลาเพียงอย่างเดียวหรอกค่ะ ยังมีข้าวปลาอาหารที่แม่สาลิกาชอบอย่างอื่นอีก ที่ขนาดของปากนั้นยังคงสำคัญเหลือหลาย หรือ เรียกว่า Size does matter ไงล่ะค่ะ
*(หมายเหตุ - ยายปริกแกก็สับสนเหมือนคนทั่วไปที่จำไม่ค่อยได้ว่า ต้องใช้ลักษณะนามว่า "รูป" กับพระสงฆ์ ส่วน "องค์" นั้นจะใช้กับพระพุทธรูปค่ะ)

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


 

เมนูอาหารไทยแนะนำ
 
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie