รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

ขิงก็รา ข่าก็แรง

คลับคล้ายว่าแม่สาลิกาจะมาเล่าตำนานสำนวนไทยกันอีกแล้วนะคะ ก็ไม่เชิงหรอกค่ะ เพราะความจริงนั้น อาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันเราเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยค่ะ ที่เรื่องของข้าวปลาอาหาร และสำนวนความเปรียบที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ จะถูกนำมาเกี่ยวข้องกัน แม้วันนี้จะจั่วหัวเรื่องไว้ว่า "ขิงก็รา ข่าก็แรง" แต่แม่สาลิกาก็จะพูดถึง "ขิง" อย่างเดียวนะคะ เรื่อง "ข่า" นั้นขอเก็บไว้ก่อนค่ะ
ขิงมีกำเนิดในดินแดนเอเชียอาคเนย์ค่ะ โดยที่จีนและอินเดียเป็นชาติแรก ที่รู้จักขิงในฐานะของยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง และกลายมาเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ทีหลังค่ะ ขิงนั้นเป็นเครื่องเทศสมุนไพรประเภทแรก ที่ชาวยุโรปได้นำออกไปจากเอเชีย ขิงเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับขมิ้น มีลำต้นใต้ดินและมีเหง้ามีแง่งสำหรับการ ขยายพันธุ์ ส่วนลำต้นบนดินนั้น มีก้านใบหุ้มหนาแน่น ขิงจะเจริญเติบโตได้ดีใน ฤดูฝนและ โทรมลงอย่างรวดเร็วในฤดูหนาวค่ะ จะเหลือเพียงแง่งที่จะงอกในฤดูฝนถัดไปค่ะ ซึ่งแง่งของขิงนี่เองค่ะที่จะเป็นส่วนที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ทั้ง
ในแง่ของอาหารและสมุนไพรนะคะ
ขิงเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้อาการหวัดแบบเย็น ทุเลาลงได้ชะงัดนักเชียวล่ะค่ะ อาจจะมีท่านผู้อ่านสงสัยว่า อะไรคือหวัดแบบเย็น หากจะลองสังเกตให้ดีเวลาที่เราเป็นหวัดนั้น มักจะมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ 2 แบบค่ะคือ ร้อนเกินไป หรือหนาวเกินไปค่ะ ดังนั้นก็จึงมีการตั้งชื่อหวัดตามสาเหตุค่ะ เช่น "หวัดร้อน" ก็หมายถึงอาการหวัดที่เกิดจากความร้อน อาการที่แสดงให้เห็นคือ ปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียว ข้นสีออกเหลือง กับ อีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทตรงกันข้าม เรียกง่ายๆ ว่า "หวัดเย็น" ซึ่งอาการก็ออกไปในแนวทางเดียวกับชื่อค่ะ นั่นคือ รู้สึกหนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส สำหรับหวัดร้อนนั้นแก้อย่างไร ไม่เกี่ยวกับขิงค่ะ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะคะ แต่หากเป็นหวัดเย็น ขิงช่วยท่านได้ค่ะ เพราะว่าการดื่มน้ำขิงร้อนๆ จะช่วยให้อาการหวัดหายเร็วขึ้นค่ะ ซึ่งก็เนื่องมาจากว่าในรสเผ็ดร้อนและหอมแหลมๆ ของน้ำขิงนั้นมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย และตัวยาสมุนไพรอีกหลายชนิด ที่สามารถทุเลาอาการหวัดเย็นลงได้
สำหรับคุณผู้อ่านที่มีปัญหากับระบบการย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นหรือจุกเสียด ก็ขอแนะนำให้รับประทานอะไรก็ตาม ที่มีส่วนผสมของขิงค่ะ เพราะขิงจะไปช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ให้ทำงาน ได้ดีขึ้นค่ะ แถมยังช่วยขับลมด้วยนะคะ นอกจากนี้แล้วขิงแก่ๆ ฝนกับน้ำมะนาว ผสมเกลือเล็กน้อยใช้กวาดคอ ก็สามารถลดอาการไอ และขับเสมหะได้ด้วยค่ะ หรือหาก จะนำขิงที่ฝนแล้วนั้นไปผสมกับดินสอพอง แล้วใช้สำหรับพอกเพื่อลดอาการฟกช้ำดำเขียวก็ยังได้อีกนะคะ
ขนมปังขิง เป็นขนมปังรสเข้มๆ เผ็ดๆ ที่คนอังกฤษนิยมรับประทานกับน้ำชา และยังเป็นชื่อของลวดลายทางสถาปัตยกรรมด้วยค่ะ แม่สาลิกาชื่อนี้ได้ยินครั้งแรก สมัยที่เรียนสถาปัตยกรรมไทย เพราะว่าในช่วงที่เรารับศิลปะตะวันตกด้านสถาปัตยกรรมมานั้น บ้านคหบดีทั้งหลายในบ้านเราเมืองเรา มักจะตกแต่งชายคาและส่วนประกอบต่างๆ เป็นลายขนมปังขิง ซึ่งเป็นไม้บางๆ ฉลุลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามเสมอๆ ค่ะ
ก่อนที่ขิงจะรา ก็ขอแถมความหมายที่แท้จริงของสำนวนไทยที่ว่า "ขิงก็รา ข่าก็แรง" เสียหน่อยค่ะ สำนวนนี้หมายความว่า ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกัน ร้ายพอกัน และหากมีสภาพการณ์ที่มี ขิงก็รา ข่าก็แรง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วละก็ มักจะจบลงที่ความหายนะค่ะ เพราะผลกรรมของ การไม่รู้จักอภัยทานนั้นมันหนักหนา เสมอนะคะ
จนวันนี้แล้ว… ประชาคมโลกทั้งหลายก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ "โทมาฮอว์ค" ลูกละ 70 ล้านบาทจะหยุดถูกหย่อนลงในแผ่นดินอัฟกานิสถาน และก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ คนอเมริกันจะขึ้นเครื่องบินได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย จะอยู่ในตึกสูงๆ ได้โดยไม่ต้องวิตกวิจารณ์ และเมื่อไหร่คนทั้งโลกจะรู้สึกปลอดภัย จากสงครามชีวภาพเสียที ทั้งนี้และทั้งนั้นมันมีเหตุมาจากพฤติกรรม "ขิงก็รา ข่าก็แรง" อย่างแท้จริงของประเทศที่ไม่รักสงบกันนั่นเองค่ะ แม่สาลิกาได้เพียงภาวนาว่าอย่าให้บ้านเราเมืองเรา ต้องติดหลังแหไปด้วยเลยนะคะ

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


- สมุนไพรไทย เคล็ดลับความอร่อยอาหารไทย

- วิธีทำแกงส้มให้อร่อยเริด

- กินอยู่อย่างไร ให้ปลอดภัยไร้โรคา
 

เมนูอาหารไทยแนะนำ

- ขิงดองหวาน
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie