รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

เปิดตำนาน นางงามเต้าหู้ หญิงงามผู้อาภัพ

คนไทยเราคุ้นเคยกับ อาหารจานเต้าหู้ เป็นอย่างดี แม้ชื่อจะฟังดู ไม่ใช่ชื่อไทย แต่เราก็เห็นเต้าหู้ มาเสนอหน้าเสนอตา ให้เห็นกันบนโต๊ะอาหาร อยู่เป็นประจำ และจะยิ่งเห็นบ่อยมาก ในช่วงเทศกาลกินเจ อันเนื่องมาจาก "เต้าหู้" เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็น อาหารที่มีโปรตีนสูง เกือบเทียบเท่าเนื้อสัตว์ จึงถูกนำมา ใช้ปรุงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ ในช่วงเทศกาลกินเจดังกล่าว เรียกได้ว่า กินกันจนหน้าเป็นเต้าหู้เลยทีเดียว

อารัมภบทกันซะนาน ว่ากันถึงประวัติความเป็นมา ของเต้าหู้ กันดีกว่า เดี๋ยวคุณๆ จะนึกว่าอ่านผิดเรื่อง เชื่อกันว่า ต้นกำเนิดของเต้าหู้ มาจากชาวจีน (อันนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้ว) แต่.. คุณรู้มั๊ย เชื่อกันว่า คนจีนอาจได้แบบอย่าง การทำเต้าหู้ มาจากการทำชีส ของชาวมองโกลทางเหนือ หรือคนอินเดียทางใต้ของจีน เพราะวิธีการทำเต้าหู้ ละม้ายคล้ายการทำชีส จากนมวัวหรือน้ำนมสัตว์อื่นๆ เป็นอย่างมาก เก่ากว่านั้น ชาวเอเชียกลาง รู้วิธีการทำชีส มาหลายพันปีก่อนคริสตกาล เก่าสุดๆ มีการพบหลักฐาน ก้อนชีส ในหลุมผังศพอียิปต์โบราณ อายุกว่า 3,000 ปี

เอาเถอะ แม้ว่าต้นตำรับ ที่มาของเต้าหู้ จะเก่าแก่ปานนั้น แต่ยังไงก็คงต้องขอ ยกความดีความชอบให้กับชาวจีน ผู้ให้กำเนิดเต้าหู้ ที่มีหน้าตาเป็นเต้าหู้แบบที่เรา รับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ หรือชาวจีนจะคิดทำเต้าหู้เอาไว้ฝึกวิทยายุทธ แบบ ฮุ้นปวยเอี๊ยง ในกระบี่ไร้เทียมทาน กันล่ะน้อ (ล้อเล่นง่ะ...) มีเรื่องเล่าว่า ย้อนไปในอดีตของประเทศจีน ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล สมัยราชวงศ์ฮั่น มีขุนนางชื่อลิ่วอัน เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ ไม่ยอมรับสินบนใดๆ ( ทำให้มีฐานะยากจน ไม่มีเงินซื้อเนื้อหมูหรือเป็ด ไก่ มารับประทาน ) ได้คิดค้น การทำเต้าหู้จากถั่วเหลือง มากินทดแทน นี่ละกระมัง ต้นกำเนิดของคำเปรียบเปรย ข้าราชการจนๆ ที่ใจซื่อมือสะอาด ไม่กินสินบาทคาดสินบนว่า "ข้าราชการเต้าหู้"

ด้วยความที่เต้าหู้ เป็นอาหารพื้นๆ ที่คนจนๆก็หากินได้ สังคมจีนจึงค่อนข้าง ละเลยไม่ค่อยกล่าวถึงคุณค่า และความสำคัญของเต้าหู้เท่าที่ควร จะเห็นได้จากตำรา อาหารจีน จะกล่าวถึงเต้าหู้น้อยมาก (มันน่าน้อยใจนัก) แม้แต่ในประวัติศาสตร์ อาหารของจีน ก็เขียนถึงเต้าหู้น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ เต้าหู้ถูกเปรียบเปรยกับ ความยากจนระคนความซื่อสัตย์ ในนิทานและเรื่องเล่าของคนจีน หญิงที่หน้าตาสะสวยแต่ยากจน ถูกเปรียบให้เป็น "นางงามเต้าหู้" ทั้งที่ในความเป็นจริง คนจีนใช้เต้าหู้ในการประกอบอาหาร อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะนำเต้าหู้ ไปประกอบกับอาหารตัวอื่นๆ เนื่องจากเต้าหู้เอง จะมีรสกลางๆ เข้ากันได้ดีกับเครื่องปรุงตัวอื่น เรียกได้ว่าปรุงด้วยอะไร เต้าหู้ก็มีรสชาติ ไปตามเครื่องปรุงนั้น

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


- โภชนบัญญัติ 9 ประการ หนทางสู่สุขภาพดี

- กินอยู่อย่างไร ให้ปลอดภัยโรคา…

 

เมนูอาหารไทยแนะนำ

- ผัดถั่วงอกกับเต้าหู้หมูสับ

- เต้าหู้หม้อดินทรงเครื่อง

- เต้าหู้ผัดเสฉวน
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie